366 จำนวนผู้เข้าชม |
การพัฒนางานวิจัยและการให้บริการวิชาการผ่านการมีส่วนร่วมของนิสิตสาขาเทคโนโลยีการเกษตร ภายใต้โครงการผลิตอาหารเสริมเกสรเทียมเพื่อผึ้งพันธุ์: โครงการวิจัยที่สนับสนุนโดย วช. 2567
ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ
อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการเกษตร
โครงการผลิตอาหารเสริมเกสรเทียมเพื่อผึ้งพันธุ์ เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2567 โดยมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ให้มีความยั่งยืนและลดการพึ่งพาอาหารที่ได้จากธรรมชาติ โดยการผนวกการวิจัยเข้ากับเรียนการสอนเพื่อสร้างความรู้และการพัฒนาทักษะในภาคปฏิบัติให้แก่นิสิตหลักสูตรปริญญาตรีเทคโนโลยีการเกษตร (ทลบ.) คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่มีความโดดเด่นด้านการศึกษาแบบพหุวิทยาการซึ่งครอบคลุมหลายสาขาวิชา อีกทั้งโครงการนี้ยังได้บูรณาการความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ/นักวิจัยต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นและมุ่งเน้นการนำผลงานไปประยุกต์ใช้ในชุมชน โดยเฉพาะการให้บริการวิชาการในพื้นที่จังหวัดเพะเยา จังหวัดแพร่ และ เชียงใหม่ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์
การให้นิสิตมีโอกาสร่วมกิจกรรมกับเกษตรกรทำให้พัฒนาทักษะในภาคปฏิบัติและเรียนรู้การทำงานร่วมกับหน่วยงานในชุมชน เช่นเดียวกับการทำงานวิจัยที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ในเชิงสังคมและมีความสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังระดับหลักสูตร (Program Learning Outcome, PLO) ที่เน้นการบูรณาการความรู้จากการเรียนในห้องเรียนสู่การวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาโครงการสู่ระดับนานาชาติโดยการให้นิสิตที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและประสบการณ์ในระดับนานาชาติอันเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักของหลักสูตร เช่น นายชินดนัย ชาญมณีเวช ตัวแทนนิสิต ทลบ. ปี 3 ได้มีโอกาสไปร่วมทำวิจัยระยะสั้นที่ National Chung Hsing University ไต้หวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ตุลาคม 2566) รวมถึงการนำผลงานไปแสดงในงานประชุม 40th Annual Meeting of Apicultural Society of Korea (กุมภาพันธ์ 2567) ให้นิสิตมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการซึ่งเป็นเป้าหมายของผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง (Expected Learning Outcomes, ELOs) ที่หลักสูตรต้องการสร้างในตัวนิสิตโดยมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เช่น การมีชื่อนิสิต ได้แก่ นางสาววรกมล เรือลม และ นางสาวณัฐพร ก๊กตระกูล ทลบ.ปี 2 ในผลงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ (SCOPUS Q2 และ Q3) ปี 2567 จำนวน 2 เรื่อง และยื่นคำขออนุสิทธิบัตรไปแล้ว 1 เรื่อง รวมไปถึงการที่ตัวแทนนิสิต นายโชควิวัฒน์ สิงห์ฤทธิ์ ทลบ.ปี 3 (หัวหน้าทีม) ได้นำผลงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาไปต่อยอดจนได้สูตรอาหารที่สามารถผลิตเป็นอาหารต้นทุนต่ำ ราคาเฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัม โภชนาการโปรตีนไม่ต่ำกว่า 10% น้ำตาลไม่ต่ำกว่า 30% และ ไขมันไม่ต่ำกว่า 5% เพื่อใช้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ในช่วงขาดแคลนอาหาร พบว่า อาหารเสริมดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการเลี้ยงผึ้งพันธุ์และสามารถลดต้นทุนการใช้อาหารเสริมเชิงพาณิชย์ได้ถึง 24.87% และได้รับการรางวัลเหรียญเงินผ่านการแสดงผลงานนวัตกรรมในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)
ดังนั้นการพัฒนางานวิจัยและการให้บริการวิชาการผ่านการมีส่วนร่วมของนิสิตจากโครงการนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของหลักสูตรได้อย่างครบถ้วนทั้งในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติ ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างนิสิตที่มีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาภาคการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
เอกสารอ่านเพิ่มเติม บทความวิจัย และ กิจกรรมของนิสิต