การปฏิเสธการนำเข้าอาหารไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดย ผศ.ดร.ตระกูล พรหมจักร สาขาวิชาความปลอดภัยทางอาหาร คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา

272 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การปฏิเสธการนำเข้าอาหารไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดย ผศ.ดร.ตระกูล พรหมจักร สาขาวิชาความปลอดภัยทางอาหาร คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา

การปฏิเสธการนำเข้าอาหารไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 
ผศ.ดร.ตระกูล พรหมจักร
สาขาวิชาความปลอดภัยทางอาหาร
คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา

 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 16-20 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศเอเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางส่วนถูกปฎิเสธการนำเข้าเมื่อถึงประเทศปลายทาง สาเหตุหลักมาจากคุณภาพของสินค้าไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของประเทศปลายทาง การวิเคราะห์สถิติและสาเหตุการปฏิเสธการนำเข้า จะช่วยให้ภาคเอกชนเตรียมความพร้อมทั้งกระบวนการผลิตอาหารการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าได้อย่างเหมาะสม

กรณีศึกษาสหภาพยุโรป
          ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสำหรับอาหารคนและสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF)1[1] เป็นระบบที่ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในอาหาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหาร ณ พรมแดน จากข้อมูลการแจ้งเตือนสินค้าส่งออกไทยผ่านระบบ RASFF ในช่วงปี พ.ศ. 2553-2562 ผลไม้และผักเป็นอาหารกลุ่มหลักที่มีการปฏิเสธการนำเข้ามากที่สุด โดยมีสาเหตุหลักมาจากสารกำจัดศัตรูพืช แซลโมเนลลา และอาหารดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่ตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดคือ มะเขือยาว พริกขี้หนู และถั่วฝักยาว โดยสารกำจัดศัตรูพืชที่พบมากที่สุดคือ โอมีโทเอต (omethoate) คาร์โบฟูแรน (carbofuran) และไดมีโทเอต (dimethoate) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดแผนเฝ้าระวังสารกำจัดศัตรูพืชในแต่ละปีไว้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายการอาหารและสารกำจัดศัตรูพืชที่มีการเฝ้าระวังได้จากเวบไซต์[2] สาเหตุการปฏิเสธการนำเข้าผักและผลไม้อื่น ๆ เช่น ดีบุกในสับปะรดกระป๋อง ซัลไฟต์ในกระเทียมดอง ผลไม้อบแห้ง กะทิ เป็นต้น กรณีซัลไฟต์มี 2 สาเหตุ ได้แก่ ความเข้มข้นของซัลไฟต์เกินมาตรฐานที่กำหนด และซัลไฟต์ไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ได้ระบุข้อมูลสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก

อาหารกลุ่มอื่นที่มีการปฏิเสธการนำเข้าจำนวนมาก ได้แก่ สัตว์ปีก อาหารทะเลและอาหารสัตว์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการตรวจพบแซลโมเนลลาและจุลินทรีย์อื่นๆ อาหารทะเลและอาหารสัตว์ที่ใช้ปลาทะเลเป็นวัตถุดิบตรวจพบโลหะหนัก โดยเฉพาะแคดเมียม ปรอท และสารหนู นอกจากนี้ อาหารทะเลยังตรวจพบฮิสทามีน กรณีอาหารแช่แข็งมักพบว่าควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งไม่เหมาะสม สินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งกลับหรือทำลายหากตรวจพบ ณ ท่านำเข้า ประเทศผู้นำเข้าบางประเทศอาจมีความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้ามากเป็นพิเศษ เช่น ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเยอรมนี ซึ่งมีอัตราการปฏิเสธสินค้าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังประเทศนั้น3


ภาพที่ 1 การปฏิเสธการนำเข้าอาหารไทยจาก EU ปี 2553-2562

กรณีศึกษาสหรัฐอเมริกา

ความปลอดภัยทางอาหารของสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Department of Agriculture: USDA) กํากับดูแลผลิตภัณฑ์จากวัว แกะ ห่าน แพะ และสัตว์ปีก รวมถึงผลิตภัณฑ์ไข่แปรรูป ส่วนองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Food and Drug Administration: U.S. FDA) กำกับดูแลอาหารที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของ USDA ซึ่งมีปริมาณมากกว่าร้อยละ 80 ของอาหารที่ผลิตและนำเข้าสหรัฐอเมริกา ข้อมูลการปฏิเสธการนำเข้าอาหารของ U.S. FDA จากเวบไซต์ Import refusals[4] ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2563 พบว่ามีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหารไทยเฉลี่ยร้อยละ 0.143 ต่อปี (ช่วงร้อยละ 0.074 – 0.272 ต่อปี) กลุ่มอาหารที่มีการปฏิเสธการนำเข้ามาก ได้แก่ อาหารทะเล ผลไม้ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ผัก และเครื่องดื่ม5

สาเหตุการปฏิเสธสินค้าอาหารไทยที่พบมากที่สุดคือ สิ่งแปลกปลอมทางชีวภาพ (filth) เช่น ชิ้นส่วนแมลง และขนสัตว์ โดยพบในอาหารเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มปลาทูน่าแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์จากมะขาม สิ่งแปลกปลอมทางชีวภาพเป็นตัวบ่งชี้ด้านสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อมภายในสถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะผลิตอาหารให้ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่พบตามธรรมชาติได้โดยสิ้นเชิง U.S. FDA จึงกำหนดระดับที่ยอมรับ (defect action level) ไว้ใน Food Defect Levels Handbook[6] อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลิตภัณฑ์บางชนิดไม่ได้กำหนดค่าที่ยอมรับไว้ แต่ U.S. FDA ก็อาจตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมทางชีวภาพได้เช่นกัน การปฏิเสธสินค้าด้วยสาเหตุนี้พบได้น้อยมากในการส่งออกอาหารไทยไปยังสหภาพยุโรป

สาเหตุการปฏิเสธการนำเข้าที่พบรองลงมา คือ การขาดระบบ HACCP โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงและผลิตภัณฑ์จากผลไม้ อย่างไรก็ตามการปฏิเสธสินค้าด้วยสาเหตุนี้พบมากที่สุดในปี 2558 และลดลงอย่างต่อเนื่องจนพบได้น้อยมากในปัจจุบัน จุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการปฏิเสธการนำเข้าที่พบบ่อยที่สุดคือแซลโมเนลลา พบมากในปลา กุ้ง พริกแห้ง และพริกป่น

การละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับสีผสมอาหารเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์หลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผลไม้ ขนมอบ ขนมหวาน และเครื่องดื่ม ซึ่งพบทั้งในรูปแบบการใช้สีผสมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต ใช้สีที่ได้รับอนุญาตเกินปริมาณที่กำหนด การไม่แสดงข้อมูลสีผสมอาหารบนฉลากหรือแสดงผิดรูปแบบ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์ได้เพียง 9 ชนิด ส่วนสีที่สกัดมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น สารสกัดไลโคพีนจากมะเขือเทศ จัดเป็นสีผสมอาหารซึ่งต้องระบุบนฉลากและใช้ได้ในอาหารที่อนุญาตเท่านั้น7

ในด้านฉลากอาหาร สาเหตุที่พบมากคือข้อมูลโภชนาการไม่ถูกต้องตามข้อกําหนด ซึ่งพบได้ในผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่ม นอกจากนี้ยังพบการระบุชื่อหรือร้อยละส่วนผสมไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำผักและน้ำผลไม้ การขาดข้อมูลภาษาอังกฤษ และข้อมูลภาษาอังกฤษไม่ตรงกับภาษาอื่นที่ระบุบนฉลาก เป็นต้น

กรณีอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท U.S. FDA กําหนดให้ผู้ผลิตต้องขึ้นทะเบียน Food Canning Establishment (FCE) และแจ้งข้อมูลสภาวะการแปรรูป การปฏิเสธการนําเข้าเนื่องมาจากสาเหตุนี้พบต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ยังพบการปรับกรดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บรรจุขวดแก้ว เช่น หน่อไม้ ขิง อบเชย และน้ำพริกแกง นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารสำหรับอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดตํ่า (21 CFR Part 113) และอาหารกระป๋องปรับกรด (21 CFR Part 114)

ภาพที่ 2 การปฏิเสธการนำเข้าอาหารไทยโดย US FDA ปี 2554-2563

ข้อเสนอแนะ

1. ผู้ประกอบการอาหารส่งออกควรศึกษากฎหมายอาหารและสถิติการปฏิเสธการนำเข้า เพื่อออกแบบกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพให้เหมาะสม เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศมีความเข้มงวดในการตรวจสอบแตกต่างกันออกไป

2. หน่วยงานภาครัฐควรจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการส่งออกอาหารแบบครบวงจร ทั้งในด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ฉลากอาหาร การขึ้นทะเบียนและการจัดเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออก การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ รวมถึงการให้บริการตรวจวิเคราะห์ที่ครอบคลุมข้อกำหนดสำคัญของประเทศผู้นำเข้า เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ

3. หน่วยงานภาครัฐควรติดตามข้อมูลการปฏิเสธการนำเข้า เพื่อป้องกันการนําสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานกลับมายังประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงตรวจสอบสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทที่มีประวัติการปฏิเสธการนำเข้าว่าสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของประเทศไทยหรือไม่

เอกสารอ้างอิง

1 RASFF Window (https://webgate.ec.europa.eu/rasff-window/screen/search)

2 EU multi-annual control programmes (https://ec.europa.eu/food/plant/pesticides/max_residue_levels/enforcement/eu_multi-annual_control_programme_en)

3 ตระกูล พรหมจักร และสุวลี ฟองอินทร์. 2564. การแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยของอาหารไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ปี 2553 – 2562. วารสารอาหารและยา, 28(3), 45-57. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/fdajournal/article/view/275533/184720

4 Import Refusals (https://datadashboard.fda.gov/ora/cd/imprefusals.htm)

5 ตระกูล พรหมจักร, ศศิณัฐฏ์ กอมาตย์กุล, มณีวรรณ มณีกรรณ์, ชนิตา โปราหา, วราภรณ์ กุศลารักษ์ และ สุวลี ฟองอินทร์. (2565). การปฏิเสธการนําเข้าอาหารไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2554-2563. วารสารอาหารและยา, 29(3), 47-61. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/fdajournal/article/view/259617/175019

6 Food Defect Levels Handbook (https://www.fda.gov/food/current-good-manufacturing-practices-cgmps-food-and-dietary-supplements/food-defect-levels-handbook#commodities)

7 Regulatory Status of Color Additives

(https://www.hfpappexternal.fda.gov/scripts/fdcc/index.cfm?set=ColorAdditives)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  คุกกี้