1047 จำนวนผู้เข้าชม |
โครงการ UP CSV เป็นกิจกรรมที่ให้คณะผู้บริหาร และหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยพะเยาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ผ่านการบูรณาการด้านวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพชีวิต รวมไปถึงด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตในอย่างมีคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนสังคม สร้างคุณค่าให้กับชุมชนและเยาวชนอย่างยั่งยืนสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยพะเยา Creating share value
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและสื่อสารองค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ธีระภูธร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญฤทธิ์ สินค้างาม ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการกองกลาง และบุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยา ลงพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยลู่ ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคและอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน โดยได้รับการต้อนรับจาก ครูใหญ่ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยลู่ ร.ต.อ.อดุลย์ ใชยา พร้อมคณะ และผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสะเนียน ร่วมพูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งด้านการศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยาได้ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยพะเยามีความมุ่งมั่น ที่จะมีส่วนร่วมในด้านการสนับสนุนทางด้านการศึกษา พร้อมนำงานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาที่ดี ถือเป็นการสร้างสานสัมพันธ์อันดีที่ได้การมอบโอกาสให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ในการหยิบยื่นและเชื่อมโยงเป็นดั่งสะพานที่จะมอบสิ่งดี ๆ ให้กัน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งให้มหาวิทยาลัยพะเยาให้ช่วยดูแลด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ยังขาดแคลน ห่างไกลให้ได้รับโอกาสที่ดี โดยในวันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มหาวิทยาลัยพะเยาได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำสิ่งของและอุปกรณ์สนับสนุนทางการศึกษามอบให้ในครั้งนี้ และพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อไป”ทั้งนี้ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ นำเสนอแนวแนวทางการพัฒนาระบบน้ำในการทำการเกษตร การดูแลคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่สูง การสนับสนุนพร้อมเมล็ดพันธ์ุพืช และพันธ์ุปลาให้กับพื้นที่ด้วย
โดยโครงการ UP CSV ถือเป็นการนำความรู้ทางด้านวิชาการ การเรียนการสอน และงานวิจัยและนวัตกรรม ของมหาวิทยาลัยพะเยาเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ห่างไกล เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน นักเรียน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน