1871 Views |
วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 1 คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญฤทธิ์ สินค้างาม คณบดี คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานเปิดการบรรยาย โครงการบริการวิชาการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง "พื้นฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน (SDGsPGS) และแนวทางในการพัฒนามาตรฐานและพัฒนาธุรกิจอินทรีย์" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการบูรณาการและขับเคลื่อนระบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน (SDGsPGS) โดยวิทยากร ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย และนายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ จากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีเกษตรกรแกนนำเกษตรกรและภาคีหน่วยงานต่างๆร่วมเวที 50 คน
ในช่วงเช้า ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยได้นำเสนอโมเดลการขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) ซึ่งเป็นการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ตามแนวทางของ IFOAM เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนระดับประเทศและมีสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนในพื้นที่ มีการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นคณะทำงานตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ มีคณะทำงานพัฒนาฐานข้อมูล คณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ระดับจังหวัดและจัดตั้งกลไกธุรกิจในรูปวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อบริหารจัดการผลผลิตจากแปลงเกษตรกรที่รับรองมาตรฐาน ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดไปแล้ว 32 แห่ง
ในช่วงบ่ายมีการปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อน SDGsPGS ในจังหวัดพะเยา ซึ่งนายจำนงค์ นาคประดับ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยตำบลบ้านตุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ และการผลิตวิถีอินทรีย์มากว่า 8 ปีและเป็นเกษตรกรรายแรกและรายเดียวในจังหวัดพะเยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (Organic Thailand) สำหรับพืชผัก ได้อาสาเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา เพื่อเดินหน้าพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS และเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ครอบคลุมทั้งจังหวัดพะเยาต่อไป
หลังจากการจัดตั้งกลไกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาแล้ว นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ จากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นโดยให้เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการวางแผนการผลิตและเพื่อการค้าด้วยตัวเอง โดยเบื้องต้นมีข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลแปลง ข้อมูลการรับรอง ข้อมูลการวางแผนการผลิตเป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถบันทึกกิจกรรมการผลิต บัญชีฟาร์มเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาหลังจากจัดตั้งในวันนี้แล้วจะเดินหน้ารวบรวมเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ทั้งจังหวัดพะเยาในการโครงสร้างการทำงานร่วมกันทันที โดยมีเป้าหมายในการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2562