903 จำนวนผู้เข้าชม |
ในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2565 คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดโครงการ " กาดโก้งโค้ง " ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับเกียรติจากรองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการในครั้งนี้
ภายในงานประกอบไปด้วย การประกวดธิดาจำแลงการเกษตร, บูทผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ คณะเกษตรฯ, บูทต้นไม้นานาพันธุ์, บูทแสดงสินค้าโอทอป, พื้นเมือง, การแข่งขันประกวดทำ "ส้มตำ", การแข่งขันกินแตงโม, การแข่งขันนึ่งข้าวเหนียว, หนังกลางแปลง "ส้มป่อย", ส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นไทย, เสวนา เรื่องเสื้อผ้าการแต่งกาย, อบรมเชิงปฏิบัติการ ทำขนมพื้นบ้าน, การแสดงแฟชั่นโชว์การแต่งกาย, ประกวดการแต่งกายชุดไทย และชุดพื้นเมือง โดยกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาที่ดีงาม บริการวิชาการเกี่ยวกับการตลาดสินค้าการเกษตร ส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย
ทั้งนี้ คำว่า "กาดโก้งโค้ง" เป็นคำที่ใช้เรียกตลาดในสมัยโบราณ ที่คนขายสินค้าจะนั่งขายสินค้าอยู่บนพื้นดิน ดังนั้นคนที่มาซื้อสินค้าจะต้องโก้งโค้ง เพื่อเลือกดูสินค้าที่ตนสนใจ โดยอากัปกิริยา โก้งโค้ง ของคนไทยนั้น ทำได้สุภาพ นุ่มนวล ไม่เหมือนใคร และไม่มีชนชาติใดทำได้เหมือน เพราะเป็นกิริยาที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นกิริยาสุภาพที่ต้องโน้มตัวลงไป ส่วนคนขายสินค้าก็นั่งกับพื้นแบบไม่ถือตัว จะเป็นภาพการซื้อขายสินค้าที่แสดงถึงความอ่อนโยน เต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรีระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย